top of page
bg.jpg
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนMMP Corporation

“เอ็ม แรป” ศึกษาเร่งทำแรปไบโอ ฟิล์มอาหารชีวภาพผุดโครงการรีไซเคิล

อัปเดตเมื่อ 12 พ.ค. 2564


"เอ็ม แรป” ปรับตัวหลังโรดแมปลดขยะพลาสติก ลุยพัฒนาผลิตฟิล์มแรปไบโอ พร้อมผุดโครงการเก็บเพื่อกลาย รีไซเคิลฟิล์มถนอมเป็นนิวโปรดักต์ ตั้งเป้าขยายเครือข่าย 100 โรงแรมในปี 2563 มั่นใจยอดขายยังโต แม้เทรนด์ลดพลาสติกมาแรง







นางสาวฤทัยชนก จงเสถียรฝ่ายการตลาด (Marketing Department) บริษัท เอ็มเอ็มพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตฟิล์มยืดถนอมอาหารแบรนด์เอ็มแรป (M Wrap) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการที่รัฐบาลมีการวางโรดแมปลดขยะพลาสติกว่าจะลดและเลิกการใช้ถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single used) ปี 2563 ไม่กระทบต่อผลิตภัณฑ์ของบริษัท เพราะฟิล์มห่อถนอมอาหารเป็นคนละกลุ่มกับถุงพลาสติกดังกล่าว อีกทั้งบริษัทเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ จึงได้เตรียมแผนการดำเนินการเพื่อให้สอดรับกับเรื่องนี้ไว้ 2 ด้าน คือ การผลิตฟิล์มถนอมอาหารเป็นไบโอ (ชีวภาพ) และการจัดทำโครงการเก็บเพื่อกลาย เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรักษ์สิ่งแวดล้อม


โดยในส่วนการพัฒนาฟิล์มถนอมอาหารประเภทไบโอนั้น ทางบริษัทเริ่มปรับเพิ่มสัดส่วนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเป็นไบโอมากขึ้น และมุ่งเน้นวัตถุดิบที่มีความปลอดภัย เพื่อสุขภาพผู้บริโภค กล่าวคือจะต้องมีการศึกษาว่าสารทดแทนนั้นจะต้องไม่มีการย่อยสลายปนลงไปในอาหารจนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นคีย์หลักของธุรกิจ “ขณะนี้ผู้ผลิตแต่ละรายก็พยายามปรับตัวไปสู่จุดนี้ แต่ต้องยอมรับว่าทุกคนพบกับปัญหาเดียวกัน คือ เม็ดพลาสติก หรือ plant base มีต้นทุนสูงมาก ผู้บริโภคหรืออุตสาหกรรมที่เป็นผู้ใช้ไม่สามารถรับได้ เพราะราคาสูงกว่า เช่น ต้นทุนแรปทุเรียน 1 แพ็ก ราคา 100 บาท ค่าฟิล์มแรปปกติประมาณ 1-2 บาท แต่ถ้าเปลี่ยนไปใช้ฟิล์มไบโอจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 100% โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นไบโอแบบเพียวจะยิ่งมีราคาที่สูงขึ้นไปอีก” อีกด้านหนึ่ง ทางบริษัทได้จัดทำโครงการเก็บเพื่อกลาย ซึ่งจะเป็นกระบวนการหลังการขาย โดยจะเข้าไปรับเก็บฟิล์มถนอมอาหารที่ใช้แล้วกลับมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ถูกวิธี และนำเข้าไปสู่กระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ โดยขณะนี้บริษัทได้ร่วมกับลูกค้ากลุ่มโรงแรม ประมาณ 30 โรงแรมทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เช่น โรงแรมเจดับบลิวแมริออท แมริออทมาร์คีย์ เซ็นจูรี 21 และโรงแรมบูทีคต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีปริมาณการใช้จำนวนมาก และพร้อมใจที่ให้ความร่วมมือเพราะต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม



“หลังจากเริ่มโครงการนี้มา 3 เดือน บางโรงแรมเก็บกลับได้หลายร้อยกิโลกรัม เราตั้งเป้าหมายอยากขยายความร่วมมือเพิ่มขึ้นจาก 30 เป็น 100 โรงแรมในปี 2563 และจะขยายไปยังกลุ่มลูกค้าทั่วไป โดยเรามีจุดบริการ 7 จุดทั่วประเทศ เป้าหมายจะเก็บกลับได้มากขึ้น”


อย่างไรก็ตาม การเก็บกลับจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการตระหนักรู้ของทุกภาคส่วน และแม้ว่าจะมีกระบวนการผลิตสินค้าเป็นไบโอ 100% แต่สิ่งสำคัญ รัฐควรปลูกฝังความรู้ให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่า กระบวนการเก็บกลับเพื่อนำมาย่อยสลายถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ว่าจะเก็บอย่างไร แยกอย่างไร เพราะหากไม่มีการเก็บกลับมาแยกอย่างถูกวิธี ขยะเหล่านี้จะกระจายไปสู่สิ่งแวดล้อมเช่นเดิม ทางบริษัททำโครงการนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมสร้างความเข้าใจให้ลูกค้ารู้จักวิธีการแยกขยะซึ่งเป็นขั้นแรกก่อน


จากนั้นเราจึงมีกระบวนการพัฒนานำกลับมาใช้ใหม่ เราใช้วิธีเก็บกลับ และการร่วมกับชาวบ้านที่มีธุรกิจแยกขยะอยู่แล้วแต่ยังขาดองค์ความรู้ไม่มีโนว์ฮาวในเรื่องการคัดแยกที่ถูกวิธี โดยบริษัทได้ลงทุนเพิ่มในกระบวนการจัดเก็บ การล้าง และการแปรรูปเป็นสินค้าใหม่ ด้วยงบประมาณเป็นหลักหลายล้านบาท


“การแก้ปัญหานี้ไม่ใช่ผลิตไบโอ 100% จะเป็นคำตอบ เพราะไบโอเป็นวัตถุดิบประเภทหนึ่งก็จริง แต่มันก็เป็นขยะ ถ้าผู้บริโภคไม่เข้าใจแล้วทิ้งขยะไบโอตกไปอยู่ในทะเลก็ไม่เกิดการย่อยสลายดังนั้นรัฐต้องส่งเสริมความเข้าใจว่า การใช้ไบโอก็ต้องไปฝังกลบอย่างถูกวิธีภายในปัจจัยที่กำหนดจึงจะทำให้ย่อยสลายได้ในเวลาที่กำหนด เช่น ย่อย 1 เดือน ถ้าถูกวิธี แต่หากวางไว้เฉย ๆ ก็ย่อยไม่ได้ โดยเฉพาะขยะเกี่ยวกับอาหารเกิน 70% ของขยะทั้งโลก รัฐต้องมาให้ความรู้ผู้บริโภคมากกว่านี้ ไม่ใช่ไบโอปลอดภัย หรือย่อยสลายได้”


สำหรับแผนการต่อยอดฟิล์มที่นำกลับมาจะถูกนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งทางบริษัทได้ร่วมกับสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เริ่มนำโครงการที่เคยวิจัยมาพัฒนาเป็นหลากหลายผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์รองเท้า เสื่อน้ำมัน ชานไม้ ท่อสายยาง ซึ่งจะผลิตเป็นสินค้าอะไรขึ้นอยู่กับปริมาณสินค้าที่เก็บกลับมาได้ว่าจะมีปริมาณมากน้อยเพียงใด เพราะไม่ใช่เก็บมา 100% จะนำมาผลิตได้ทั้ง 100% อาจจะใช้ได้แค่ 60-80% เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนในช่วงเดือนมีนาคม 2563

นางสาวฤทัยชนกกล่าวว่า แนวโน้มภาพรวมการขายปี 2563 แม้จะมีความกังวลเกิดขึ้นในธุรกิจจากโรดแมปตามนโยบายรัฐ และประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่บ้าง แต่ยังมองว่าธุรกิจนี้ยังมีโอกาสเติบโต จากปัจจัยเรื่องการขยายตัวของประชากรเมืองและการขยายตัวของธุรกิจอาหาร ค้าปลีกและธุรกิจดีลิเวอรี่ ซึ่งยังจำเป็นต้องใช้ฟิล์มแรปอาหาร


อย่างไรก็ตาม ยังกังวลปัจจัยเสี่ยงค่าบาทแข็งค่าว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกเพราะในแต่ละปีบริษัทส่งออกสัดส่วน 70% ไปยังสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ตะวันออกกลาง มาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งจะมีทั้งที่ส่งออกในแบรนด์เอ็มแรป และรับจ้างผลิต (OEM) ในแบรนด์ลูกค้า ส่วนตลาดในประเทศอีก 30% แบ่งเป็น กลุ่มโรงแรมและร้านอาหารต่าง ๆ ฟู้ดเซอร์วิส ประมาณ 20% และที่เหลือ 10% เป็นช่องทางที่จำหน่ายให้กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และค้าปลีกให้ผู้บริโภคทั่วไปก็ยังมีแนวโน้มเติบโต


#เอ็มแรป #แรปอาหาร #แรปพลาสติก #เก็บเพื่อกลาย #ฟิล์มถนอมอาหาร

ดู 51 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page